Than Salakaput

แค่เว็บ WordPress.com เว็บหนึ่ง

ต้นสลากที่ใช้ในประเพณีตานก๋วยสลาก พฤศจิกายน 21, 2011

ต้นสลากที่ใช้ในประเพณีตานก๋วยสลาก


ต้นสลากแบ่งออกได้หลายขนาด คือ
1.  ต้นสลากขนาดเล็ก “ก๋วยซอง”
2.  ต้นสลากขนาดกลาง “ก๋วยสำรับ”
3.  ต้นสลากโชค
4.  ต้นสลากย้อม
5.  ต้นสลากหลวง บางท้องถิ่นเรียก “สลากสร้อย”

ต้นสลากขนาดเล็ก  เรียกว่า ก๋วยซอง”  หรือ ก๋วยหน้อย” บางแห่งว่า  ก๋วยขี้ปุ๋ม”   ทางเชียงรายเรียก “สลากอิ้ง” สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นรูปตะกร้าทรงสูง ปลายตอกทิ้งไว้ให้พ้นจากตัวตะกร้าขึ้นไป รองด้วยใบตอง ใส่ข้าวปลาอาหาร ผลไม้ ขนม กล้วยอ้อย หมากพลู บุหรี่ ครบทุกอย่าง อาหารและผลไม้ที่ใส่ในก๋วยซองนี้มีขนาดเล็กหรือใส่ไม่มาก อย่างกล้วยก็ไม่เกิน 2 ลูก ส้มโอก็ตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ อ้อยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 1 คืบ เมื่อใส่ข้าวของครบแล้วจึงรวบปลายตอกที่พ้นขึ้นไปผูกติดกันเพื่อปิดปากก๋วย เสียบด้วยกรวยดอกไม้ ติดเงินยอดเพียงเล็กน้อย

ก๋วยซอง หรือ ก๋วยขี้ปุ๋ม

ต้นสลากขนาดกลาง  บางท้องถิ่นว่า ก๋วยสำรับ ภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวปลาอาหาร   แต่โบราณสานด้วยตอกไม้ไผ่ เช่น “ก๋วยตีนช้าง เพียด  พ้อม ซ้าข้าวบาตร” ภาชนะดังกล่าวสานด้วยตอกไม้ไผ่ เป็นเครื่องสานที่ชาวบ้านทุกคนมีไว้ใช้งาน ต่อมาภายหลังใช้ กะละมัง ถังน้ำ  ข้างในใส่ข้าวปลาอาหาร และผลไม้เหมือนกับต้นสลากขนาดเล็ก แต่ของเหล่านั้นจะมีขนาดและปริมาณมากกว่า เงินที่ใส่เป็นยอดก็มากกว่าด้วย

ก๋วยตีนช้าง

ก๋วยตีนช้าง

 ต้นสลากโชค  ภาชนะที่ใช้เป็นต้นสลากบรรจุของกินของใช้ เป็นเครื่องจักสาน เช่น  กระบุง แต่สานให้มีขนาดใหญ่ ต่อมาใช้กะละมัง ถังเปล โอ่งน้ำ กระถางดอกไม้ขนาดใหญ่    ใส่ข้าวปลาอาหารจำนวนมาก ผลไม้ เช่น ส้มโอก็ใส่ทั้งลูก ข้างบนตั้งต้นดอกที่ทำจากใบคา หรือฟางข้าว (ต้นคา) เสียบด้วยดอกไม้กระดาษ สวยงาม ติดเงิน หรือ ธนบัตร มากพอสมควร

ต้นสลากย้อม
  มักทำเป็นต้นดอกไม้ ใช้ใบคาหรือฟางข้าวมาผูกให้เป็นลำต้น ใช้ดอก
ไม้กระดาษติดกับก้านไม้เสียบรอบๆ จนถึงปลาย ตั้งในภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ หรือกระถางต้นไม้ ใส่ข้าว อาหาร และเครื่องมือทำอาหารทุกอย่าง แขวนเครื่องใช้กับกิ่งดอก เครื่องใช้โดยมากเป็นของใช้หญิงสาว มีกระจก หวี น้ำมันทาผม น้ำหอม ผ้าเช็ดหน้า ส่วนยอดของต้นสลากมักทำรูปนกหรือหงส์ มีปากคาบเงิน หรือธนบัตร
หญิงสาวนิยมทำต้นสลากย้อมถวาย ตามความเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ต้นสลากย้อมมักจะเขียนคำปรารถนา เป็นคำประพันธ์ เช่น ค่าว โคลง  คำร่าย คำร่ำ จารลงใบลานแขวนไว้ด้วย เมื่อภิกษุสามเณรรูปใดได้รับ จะให้ น้อย หรือ หนาน ที่เป็นญาติพี่น้องที่เคยบวชเรียนมาและรู้ตัวหนังสือพื้นเมือง ถ้าได้น้อยหนานที่ยังเป็นโสดยิ่งดีเป็นผู้อ่านคำร่ำสลากต้นนั้น
ต้นสลากย้อม
ต้นสลากหลวง หรือต้นสลากโชคหลวง ทำขึ้นด้วยวัตถุหลายอย่าง บางแห่งทำเป็น      “ช้างฝ้าย” หรือ “ม้าฝ้าย” ด้วยการสานโครงรูปช้าง หรือรูปม้าด้วยไม้ไผ่ แล้วเอาดอกฝ้ายติด
ประดับเป็นสีขาวทั้งตัว (พระเณรที่ได้ต้นสลากฝ้ายไป ก็นำไปให้ญาติปั่นเป็นเส้นแล้วทอ
เป็นผ้าได้หลายผืน) ส่วนบนของรูปสัตว์เหล่านั้นทำเป็นต้นดอก ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้
กระดาษ
บางท้องถิ่นทำเป็นชองอ้อยมีต้นดอก หรือกิ่งไม้ แขวนด้วยของกินของใช้ต่างๆ       บางแห่งใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ แขวนของกินของใช้ตั้งแต่ปลายถึงโคน บางท้องถิ่นสร้างเป็นบ้านจำลอง ใส่ด้วยเข้าของเครื่องใช้ในครัวเรือนจนครบทุกอย่าง บางท้องถิ่นสร้างเป็นรูปปราสาท ข้างใน ใส่ข้าวของเครื่องใช้เครื่องบริโภค บางท้องถิ่นสร้างยุ้งข้าวจำลองแล้วใส่ข้าวเปลือกไว้ข้างในหลายถัง ภิกษุสามเณรองค์ใดได้รับ ก็ต้องให้ญาติพี่น้องช่วยกันหาบ ช่วยกันขนกลับวัดกลับบ้านกันเลยทีเดียว
บางท้องถิ่นทำเป็นสลากหลุม เรียกว่าทานหลุมเงินหลุมทอง เจ้าภาพจะแอบไปขุดดินในวัดให้เป็นหลุมเล็กๆ  เมื่อถึงเวลาที่นำต้นสลากไปวัดก็จะเอาสร้อยทอง หรือแหวนทอง หรือเครื่องทองอย่างอื่นใส่ไว้ในหลุม แล้วปิดข้างบนด้วยแผ่นไม้กระดานหรือก้อนอิฐ แล้วเอาต้นสลากวางไว้ข้างบนอีกทีหนึ่ง เมื่อพระภิกษุหรือสามเณรองค์ใดได้รับก็จงสังเกตให้ดีๆ เจ้าภาพยังจะพูดเป็นปริศนาให้ได้รู้อีกด้วย เช่นพูดว่า “หล็วกกินข้างใน ไบ้กินข้างนอก” หมายความว่า ถ้าคนฉลาดจะเอาของที่อยู่ในหลุม ถ้าคนไม่ฉลาดจะเอาเพียงต้นสลากข้างบนเท่านั้น ภิกษุสามเณรที่มีประสบการณ์จะรู้ได้ทันทีว่ามีหลุมเงินหลุมทอง ก็จะยกต้นสลากออกแล้วคุ้ยดินตรงนั้นดู เมื่อพบก็จะเปิดไม้กระดานออกเอาทองที่อยู่ในนั้น ยอดปัจจัยของก๋วยโชคหลวงจะใส่เงินจำนวนมากกว่าก๋วยประเภทอื่น ผู้เป็นเจ้าของทำสลากหลวงถวาย ส่วนมากจะเป็นผู้มีฐานะดี  ต้นสลากหลวงอย่างนี้ นิยมเขียนคำปรารถนาของผู้เป็นเจ้าภาพ เป็นคำประพันธ์   เป็นค่าว โคลง ลำนำ คำร่ำ แขวนไว้ด้วย
 

พิธีการตานก๋วยสลาก พฤศจิกายน 13, 2011

Filed under: พิธีการตานก๋วยสลาก — nongthoy @ 7:46 am

พิธีการตานก๋วยสลาก

       ประเพณีทานสลาก บ้างก็เรียกว่า” กิ๋นข้าวสลาก ” หรือ ” ตานก๋วยสลาก ” ซึ่งก็คืองานประเพณีทำบุญสลากภัตต์ นิยมทำกันในช่วงราวปลายเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม จะทำกันถี่มากในเดือนกันยายน เพราะถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่อดอยากของชาวบ้าน ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางก็ใกล้จะหมด หรือหมดไปแล้ว คนที่มีข้าวเปลือกก็จะเก็บไว้กินจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ในปีต่อไป ( ในราวเดือนมกราคม ) ส่วนคนที่ซื้อกินข้าวสารก็จะหาซื้อยากและมีราคาแพง เมื่อคนทั่วไปอดอยากก็พากันคิดถึงผู้ที่เป็นญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วว่าคงจะไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นกัน จึงรวมกันจัดพิธีทำบุญสลากภัตต์ จัดข้าวปลาอาหารของกินของใช้ ไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไป โดยการทำบุญทานสลากภัตต์ จะไม่จำเพาะเจาะจงถวายแด่สงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง จึงทำสลากเขียนคำอุทิศลงในสลาก แล้วนำไปรวมปะปนกัน ให้พระภิกษุสามเณรจับสลาก หากภิกษุหรือสามเณรรูปใดจับสลากได้ ” ก๋วยสลาก ” หรือภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานอันไหนก็ยกถวายแก่รูปนั้น

ประเพณีตานก๋วยสลาก

วันงานทานข้าวสลากนี้ ชาวบ้านจะนัดหมายตกลงกันว่าวันทำพิธีนั้นให้มีงาน ๒ วัน คือวันแต่งดา หรือวันสุกดิบวันหนึ่ง และวันถวายทานอีกวันหนึ่ง ในวันแต่งดาทุกหลังคาเรือนจะจัดหาวัตถุของกินของใช้ตามกำลังศรัทธามาไว้ ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านไม่ว่าใกล้หรือไกลเมื่อรู้ข่าวก็จะพากันมาช่วย และร่วมบริจาคจตุปัจจัยสมทบในการทำบุญบำเพ็ญทานตามสายญาติของตน

พิธีถวายสลากภัตร(ตานก๋วยสลาก) ที่ทำกัน มีอยู่ 3 ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง “สลากเอาเส้น” คือ ประชาชนเป็นผู้จับสลาก แล้วนำเอาไทยทานไปถวาย ส่วนประเภทที่สอง คือ สลากที่พระสงฆ์จับสลากเอาเอง และประเภทที่สาม ก็คือ สลากย้อม เป็นของพี่น้องชาวไทยยองและที่นิยมทำกันมากที่สุดก็คือ ให้พระสงฆ์จับสลากเอง

ก่อนวันทำพิธี ตานก๋วยสลาก ๑ วัน หรือ “วันดา” เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” ไว้หลายๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูกแล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์จะอำนวยให้ ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อจอกระจุกกระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้ามต้ม และอาหาร เช่นห่อหมก สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยสลาก ซึ่งกรุดด้วยใบตองหรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้วก็จะเอา”ยอด” คือ สตางค์หรือธนบัตรผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าจะเท่าใดแล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธาจะอำนวยให้ เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก เข้าก็จะใช้เด็ก ลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาบาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถวๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน(พาน) เข้าตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ถือขัน (พาน) ไปวัดกันเป็นหมู่ๆ บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย ส่วนพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็ไม่เหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตนี้มีอานิสสงส์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก”

ก๋วยสลากที่จัดเตรียมแล้ว

“เส้นสลาก”นี้ ผู้เป็นเจ้าของ “ก๋วยสลาก” จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาวๆ จารึกชื่อเจ้าขอไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ “สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้านายแก้ว นางดี ขอทานให้กับตนตัวภายหน้า” หมายถึง ถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเอง เมื่อล่วงลับไปแล้วจะได้รับเอาของไทยทานนั้นในปรโลก ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนทั่วไปว่า เมื่อทำบุญถวายทานไว้ในพระศาสนาแล้วเมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปก็จะได้ไปเสวยอานิสงส์ผลบุญนั้นในโลกหน้า และจะมีการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว “ผู้ข้าหนานเสนา บางบุ บ้านวังม่วง ขอทานไว้ถึงนางจันตาผู้เป็นแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ขอหื้อไปรอดไปถึงจิ่มเต๊อะฯ” เป็นต้น

การแบ่ง “เส้นสลาก” ในแบบฉบับเดิมของ “ชาวบะเก่า” (คนโบราณ) ให้เป็นที่เข้าใจของท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย ในสมัยที่พวกชาวบ้านยังไม่รู้หนังสือ ไม่รู้จักคิดเลขอยู่นั้น การแบ่ง”ก๋วยสลาก” จะต้องตก “เส้นสลาก”เป็นกองๆ รวม ๓ กอง กองหนึ่งคือของพระเจ้า”(ของวัด) ส่วนอีก ๒ กอง นั้นเฉลี่ยออกไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือก็มักจะปัดเป็นของพระเจ้าเสีย

พิธีการถวายก๋วยสลาก

ในวันงาน ตานก๋วยสลาก ชาวบ้านก็จะมากันทั้งบ้านทั้งเด็กหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ นำเสื่อ นำโต๊ะมาวางก๋วยสลาก แล้วนำเอาเส้นสลากไปรวมกัน เผื่อเอาคละกัน แล้วแบ่งเส้นสลากให้พระสงฆ์ที่มาในวันนั้น  “เส้นสลาก” ที่แบ่งปันให้พระภิกษุ สามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆ นั้น เมื่อพระภิกษุ สามเณร ได้รับส่วนแบ่งแล้ว ก็จะไปยึดชัยภูมิแห่งใดแห่งหนึ่งในวัดและจัดการออกสลาก คือ อ่านเชื่อในเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ไปด้วยนั้นตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก หรือ เปลี่ยนเป็นคำสั้นๆ เช่น “ศรัทธาหนานใจวงศ์ บ้านวังม่วงมีไหมเหอ” เมื่อผู้เป็นเจ้าของได้ยินหรือมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ยิน ก็จะไปบอกให้เจ้าของ “ก๋วยสลาก” ซึ่งบางรายก็จะหิ้ว “ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากตามลานวัด การเที่ยวหาเส้นสลากนี้เป็นที่น่าสนุกสนานมาก ทั้งพวกหนุ่มๆ สาวๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะหิ้ว “ก๋วยสลาก” ออกตามเส้นสลากกันขวักไขว่ ทุกคนจะมีใบหน้าแช่มชื่นผ่องใส ก็จะถือโอกาสช่วยๆ สาวๆ หาเส้นสลากเป็นการผูกไมตรีไปด้วย เมื่อพบเส้นสลากองตนแล้วก็จะเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระ พระก็จะอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่งแล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จงาน “แก่วัด” หรือมรรคนายกก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

การ “ทานก๋วยสลาก” นี้นอกจากจะมี “ก๋วยเล็ก” แล้ว ผู้ที่มีฐานะดี การเงินไม่ขัดสน ก็จะจัดเป็นพิเศษที่เรียกว่า “สลากโชค” สลากโชคนี้ทำเป็นพิเศษกว่าสลากธรรมดา และในสมัยก่อนมักจะทำเป็นรูปเรือนหลังเล็กๆ มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอนหมอนมุ้ง เสื่ออ่อน ไม้กวาด เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูป ๑ สำรับ และรอบๆ เรือนหลังเล็กนั้นจะมีต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกติดไว้ และยังมี “ยอด” เงินหลายสิบ หรือปัจจุบันก็เป็นร้อยๆ บาท ผูกติดไว้ด้วย สลากโชคนี้บางคนก็อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว สลากโชคนี้เจ้าของจะตบแต่งประณีตสวยงามกว่าสลากธรรมดา บางรายเจ้าของก็เอาเครื่องประดับอันมีค่า สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือหรือเข็มขัดนาค เข็มขัดเงินใส่ลงไปด้วย แต่ไม่ได้ “ทาน” ไปจริงๆ เมื่อถวายสลากแล้วก็มักจะขอ “บูชา”คืน การเอาของมีค่าใส่ลงไปเช่นนั้น ผู้ถวายมักจะอุทิศส่วนกุศลนั้นๆ ให้ตนเอง เพราะเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วหากไปเกิดในภพอื่นๆ ก็จะได้รับสิ่งของที่ตนถวายอุทิศไปอีกด้วย