Than Salakaput

แค่เว็บ WordPress.com เว็บหนึ่ง

ต้นสลากที่ใช้ในประเพณีตานก๋วยสลาก พฤศจิกายน 21, 2011

ต้นสลากที่ใช้ในประเพณีตานก๋วยสลาก


ต้นสลากแบ่งออกได้หลายขนาด คือ
1.  ต้นสลากขนาดเล็ก “ก๋วยซอง”
2.  ต้นสลากขนาดกลาง “ก๋วยสำรับ”
3.  ต้นสลากโชค
4.  ต้นสลากย้อม
5.  ต้นสลากหลวง บางท้องถิ่นเรียก “สลากสร้อย”

ต้นสลากขนาดเล็ก  เรียกว่า ก๋วยซอง”  หรือ ก๋วยหน้อย” บางแห่งว่า  ก๋วยขี้ปุ๋ม”   ทางเชียงรายเรียก “สลากอิ้ง” สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นรูปตะกร้าทรงสูง ปลายตอกทิ้งไว้ให้พ้นจากตัวตะกร้าขึ้นไป รองด้วยใบตอง ใส่ข้าวปลาอาหาร ผลไม้ ขนม กล้วยอ้อย หมากพลู บุหรี่ ครบทุกอย่าง อาหารและผลไม้ที่ใส่ในก๋วยซองนี้มีขนาดเล็กหรือใส่ไม่มาก อย่างกล้วยก็ไม่เกิน 2 ลูก ส้มโอก็ตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ อ้อยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 1 คืบ เมื่อใส่ข้าวของครบแล้วจึงรวบปลายตอกที่พ้นขึ้นไปผูกติดกันเพื่อปิดปากก๋วย เสียบด้วยกรวยดอกไม้ ติดเงินยอดเพียงเล็กน้อย

ก๋วยซอง หรือ ก๋วยขี้ปุ๋ม

ต้นสลากขนาดกลาง  บางท้องถิ่นว่า ก๋วยสำรับ ภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวปลาอาหาร   แต่โบราณสานด้วยตอกไม้ไผ่ เช่น “ก๋วยตีนช้าง เพียด  พ้อม ซ้าข้าวบาตร” ภาชนะดังกล่าวสานด้วยตอกไม้ไผ่ เป็นเครื่องสานที่ชาวบ้านทุกคนมีไว้ใช้งาน ต่อมาภายหลังใช้ กะละมัง ถังน้ำ  ข้างในใส่ข้าวปลาอาหาร และผลไม้เหมือนกับต้นสลากขนาดเล็ก แต่ของเหล่านั้นจะมีขนาดและปริมาณมากกว่า เงินที่ใส่เป็นยอดก็มากกว่าด้วย

ก๋วยตีนช้าง

ก๋วยตีนช้าง

 ต้นสลากโชค  ภาชนะที่ใช้เป็นต้นสลากบรรจุของกินของใช้ เป็นเครื่องจักสาน เช่น  กระบุง แต่สานให้มีขนาดใหญ่ ต่อมาใช้กะละมัง ถังเปล โอ่งน้ำ กระถางดอกไม้ขนาดใหญ่    ใส่ข้าวปลาอาหารจำนวนมาก ผลไม้ เช่น ส้มโอก็ใส่ทั้งลูก ข้างบนตั้งต้นดอกที่ทำจากใบคา หรือฟางข้าว (ต้นคา) เสียบด้วยดอกไม้กระดาษ สวยงาม ติดเงิน หรือ ธนบัตร มากพอสมควร

ต้นสลากย้อม
  มักทำเป็นต้นดอกไม้ ใช้ใบคาหรือฟางข้าวมาผูกให้เป็นลำต้น ใช้ดอก
ไม้กระดาษติดกับก้านไม้เสียบรอบๆ จนถึงปลาย ตั้งในภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ หรือกระถางต้นไม้ ใส่ข้าว อาหาร และเครื่องมือทำอาหารทุกอย่าง แขวนเครื่องใช้กับกิ่งดอก เครื่องใช้โดยมากเป็นของใช้หญิงสาว มีกระจก หวี น้ำมันทาผม น้ำหอม ผ้าเช็ดหน้า ส่วนยอดของต้นสลากมักทำรูปนกหรือหงส์ มีปากคาบเงิน หรือธนบัตร
หญิงสาวนิยมทำต้นสลากย้อมถวาย ตามความเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ต้นสลากย้อมมักจะเขียนคำปรารถนา เป็นคำประพันธ์ เช่น ค่าว โคลง  คำร่าย คำร่ำ จารลงใบลานแขวนไว้ด้วย เมื่อภิกษุสามเณรรูปใดได้รับ จะให้ น้อย หรือ หนาน ที่เป็นญาติพี่น้องที่เคยบวชเรียนมาและรู้ตัวหนังสือพื้นเมือง ถ้าได้น้อยหนานที่ยังเป็นโสดยิ่งดีเป็นผู้อ่านคำร่ำสลากต้นนั้น
ต้นสลากย้อม
ต้นสลากหลวง หรือต้นสลากโชคหลวง ทำขึ้นด้วยวัตถุหลายอย่าง บางแห่งทำเป็น      “ช้างฝ้าย” หรือ “ม้าฝ้าย” ด้วยการสานโครงรูปช้าง หรือรูปม้าด้วยไม้ไผ่ แล้วเอาดอกฝ้ายติด
ประดับเป็นสีขาวทั้งตัว (พระเณรที่ได้ต้นสลากฝ้ายไป ก็นำไปให้ญาติปั่นเป็นเส้นแล้วทอ
เป็นผ้าได้หลายผืน) ส่วนบนของรูปสัตว์เหล่านั้นทำเป็นต้นดอก ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้
กระดาษ
บางท้องถิ่นทำเป็นชองอ้อยมีต้นดอก หรือกิ่งไม้ แขวนด้วยของกินของใช้ต่างๆ       บางแห่งใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ แขวนของกินของใช้ตั้งแต่ปลายถึงโคน บางท้องถิ่นสร้างเป็นบ้านจำลอง ใส่ด้วยเข้าของเครื่องใช้ในครัวเรือนจนครบทุกอย่าง บางท้องถิ่นสร้างเป็นรูปปราสาท ข้างใน ใส่ข้าวของเครื่องใช้เครื่องบริโภค บางท้องถิ่นสร้างยุ้งข้าวจำลองแล้วใส่ข้าวเปลือกไว้ข้างในหลายถัง ภิกษุสามเณรองค์ใดได้รับ ก็ต้องให้ญาติพี่น้องช่วยกันหาบ ช่วยกันขนกลับวัดกลับบ้านกันเลยทีเดียว
บางท้องถิ่นทำเป็นสลากหลุม เรียกว่าทานหลุมเงินหลุมทอง เจ้าภาพจะแอบไปขุดดินในวัดให้เป็นหลุมเล็กๆ  เมื่อถึงเวลาที่นำต้นสลากไปวัดก็จะเอาสร้อยทอง หรือแหวนทอง หรือเครื่องทองอย่างอื่นใส่ไว้ในหลุม แล้วปิดข้างบนด้วยแผ่นไม้กระดานหรือก้อนอิฐ แล้วเอาต้นสลากวางไว้ข้างบนอีกทีหนึ่ง เมื่อพระภิกษุหรือสามเณรองค์ใดได้รับก็จงสังเกตให้ดีๆ เจ้าภาพยังจะพูดเป็นปริศนาให้ได้รู้อีกด้วย เช่นพูดว่า “หล็วกกินข้างใน ไบ้กินข้างนอก” หมายความว่า ถ้าคนฉลาดจะเอาของที่อยู่ในหลุม ถ้าคนไม่ฉลาดจะเอาเพียงต้นสลากข้างบนเท่านั้น ภิกษุสามเณรที่มีประสบการณ์จะรู้ได้ทันทีว่ามีหลุมเงินหลุมทอง ก็จะยกต้นสลากออกแล้วคุ้ยดินตรงนั้นดู เมื่อพบก็จะเปิดไม้กระดานออกเอาทองที่อยู่ในนั้น ยอดปัจจัยของก๋วยโชคหลวงจะใส่เงินจำนวนมากกว่าก๋วยประเภทอื่น ผู้เป็นเจ้าของทำสลากหลวงถวาย ส่วนมากจะเป็นผู้มีฐานะดี  ต้นสลากหลวงอย่างนี้ นิยมเขียนคำปรารถนาของผู้เป็นเจ้าภาพ เป็นคำประพันธ์   เป็นค่าว โคลง ลำนำ คำร่ำ แขวนไว้ด้วย