Than Salakaput

แค่เว็บ WordPress.com เว็บหนึ่ง

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของก๋วยสลาก พฤศจิกายน 21, 2011

ประเพณีตานก๋วยสลาก


ประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึง ประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง อันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทางวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก
ก่อนวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” เป็นตระกร้าหรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่) เรียกว่า “ก๋วยสลาก”

ประวัติความเป็นมาของประเพณีตานก๋วยสลาก

        เรื่องราวความเป็นมาของการทานสลากนั้น มีมาตั้งแต่ครั้นพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า
“ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร วันหนึ่งมีนางกุมารีผู้หนึ่งได้หอบลูกน้อย หนีนางยักขิณี ผู้ซึ่งมีเวรกรรมต่อกัน วิ่งเข้าไปในวัดขณะที่พระพุทธองค์กำลังแสดงธรรมอยู่นั้น นางกุมารีได้เข้าไปขอความช่วยเหลือ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “เวร ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” แล้วก็เทศนาแก่ทั้งคู่ ให้นางยักขิณีรับศีล 5 นางยักขิณีนั้นก็ถามว่า “เมื่อให้รับศีล ปฏิบัติธรรมจะให้ทำอะไรกิน” นางกุมารีนางนั้นก็ขันอาสาให้ไปอยู่ด้วย นางกุมารีได้อุปการะนางยักขิณี ช่วยกันทำมาหากิน นางยักขิณีซาบซึ้ง จึงตอบแทนโดยเป็นผู้พยากรณ์ แก่นางกุมารี ว่าให้ทำนาปีที่น้ำเยอะ ทำนาที่ลุ่มปีที่แล้ง ทำนาบนดอนปีที่น้ำหลาก จนนางกุมารีมีฐานะมั่งคั่งขึ้น จนชาวบ้านทั่วไปเห็นก็แปลกใจ จึงได้ไปถามนางกุมารี นางก็บอกไปตามความจริง ฉะนั้นชาวบ้านเวลาจะทำอะไรก็ต้องไปถามนางยักขิณี เสียก่อน จนผู้คนมีฐานะดีขึ้นกันถ้วนหน้า
เมื่อผู้คนมีฐานะดีขึ้น จึงนำของมาตอบแทนนางยักขิณีจนมีข้าวของมากมาย นางยักขิณีจึงนำของเหล่านั้นถวายพระ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรถวายพระสงฆ์รูปไหน จึงทำเป็นสลากภัตร(ก๋วยสลาก) ขึ้น ให้พระจับเบอร์ด้วยการอุปโลกนกรรม พระสงฆ์รูปไหนจะได้ของอะไรจะมีค่ามากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับโชคของตัวเอง”
การทำสลากภัตรของนางยักขิณีนี้ นับเป็นการทานสลากครั้งแรกในพระพุทธศาสนา

ความสำคัญของประเพณีตานก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีในพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในล้านนาไทย ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดมาช้านาน คือ
๑. ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา
๒. ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน
๓. พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม
๔. ผลไม้มากและกำลังสุก เช่นส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อยฯลฯ
๕. ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจน เป็นสังฆทาน
๖. ถือว่ามีอานิสงส์แรง คนทำบุญจะมีโชคลาภ
๗. มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด
ก๋วยสลาก แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สลากน้อย หรือก๋วยเล็ก ใช้อุทิศแด่ผู้ตาย หรือเป็นกุศลมากขึ้น
๒. สลากก๋วยใหญ่ หรือสลากโชค หรือเป็นสลากที่บรรจุในก๋วยใหญ่ใช้เป็นมหากุศลสำหรับบุคคลที่มีกำลังศรัทธา และมีเงินทองมาก ทำถวายเพื่อเป็นปัจจัยภายหน้า ให้มีบุญกุศลมากขึ้น

ภาพจาก : http://www.watkoh.com/data/ssn_phitee/slakapat.php